Day and Night

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ป่าเมี่ยง..สุดขอบฟ้า

    

 

       จากการเดินทางไปป่าเมี่ยงแม่สาย มีส่วนผลักดันให้ผู้เขียนอยากรู้อยากเห็นเรื่องเมี่ยงขึ้นมาโดย ไม่ได้ตั้งใจจะไปศึกษาสำรวจเรื่องเมี่ยงเป็นหลัก จากนั้นจึงได้ถามผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ตลอดจนหาข้อมูลบางส่วนจากเครือข่ายใยแมงมุม มาผสมกันเป็นแกงโฮ๊ะ แล้วจึงนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านตัวหนังสือ บทความนี้อาจจะเรียกเป็นแนว "อ่านเอาม่วน" ไม่มีเจตนาเขียนแบบ "อ่านเอาความ" หรือ "อ่านเอาเรื่อง" และค่อนข้างออกแนวสาระ + บันเทิง ชะมากกว่า น้อง ๆ เยาวชนหากมาเจอบทความนี้โดยบังเอิญโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเผลอก๊อปปี้ไปแปะ ทำรายงานครูทั้งดุ้นแล้วกัน เพราะมันจะกลายเป็น "อ่านได้เรื่อง" ขึ้นแทน...
 
      "ป่าเมี่ยง..สุดขอบฟ้า" เป็นหัวเรื่องโพสต์นี้ หากใครเป็นคนเมืองหรือคนที่ตั้งหลักปักฐานในพื้นถิ่นล้านนา คงจะคุ้นเคยกับคำว่า "เมี่ยง" กันมาบ้าง ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มสอวอ อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะคุ้นเคยว่าได้ลิ้มลองรสชาติของเมี่ยงมาบ้างตอนเป็นเด็ก หรือไม่ก็เคยเห็นพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยอมเมี่ยงให้เห็นเป็นประจำหลังรับประทานอาหารในทุก ๆ มื้อ แต่อาจจะไม่เคยเห็นต้นเมี่ยงและกรรมวิธีการทำเมี่ยงเลยก็เป็นได้
     "ป่าเมี่ยง" หากจินตนาการตามคงเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีแต่ต้นเมี่ยงเต็มไปหมด นั่นหมายความว่าท่านจินตนาการได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงว่าเป็นป่าไม้ การเดินทางไปดูสถานที่จริงของป่าเมี่ยงนั้น มีความอยากพอควร ผู้เขียนเองเป็นคนพื้นราบ ยังไม่เคยเห็นป่าเมี่ยง เคยเห็นแต่เฉพาะสวนเมี่ยง เป็นสวนที่ถูกปลูกสร้างจากคนบนที่สูงนั่นเอง ส่วนป่าเมี่ยงอาจจะมี แต่ที่พบเห็นจะมีต้นเมี่ยงที่ขึ้นตามป่าธรรมชาติบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นไม้เด่นพอจะเรียกว่าเป็นป่าของต้นเมี่ยงได้ ส่วนสวนเมี่ยงนั้น ต้องบอกว่าเป็นส่วนจริง ๆ คือ มีการปลูกเป็นแถวเป็นแนวมีความเป็นระเบียบร้อยพอควร มีการดูแลรักษา ตัดหญ้า แบบนี้เรียกว่า "สวนเมี่ยง" 
      "สุดขอบฟ้า" เป็นเป็นคำที่ไม่ไกลเกินจริง เนื่องจากต้นเมี่ยงตามธรรมชาติไม่เคยเกิดหรือเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ และคิดว่าคงจะไม่มีหมู่บ้านใดที่มีชื่อของต้นเมียงอยู่ด้วยในชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งในที่ราบ และคงไม่มีจังหวัดใดในภาคเหนือเช่นกันที่มีหมู่บ้านป่าเมี่ยงอยู่ในจังหวัดโดยไม่มีภูเขา นั่นหมายถึงเมี่ยงเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงนั่นเอง สำหรับความสูงที่มีการปลูกชาเมี่ยงได้ผลดีคือสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไปแต่จะไม่เกิน 1500 เมตร เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เย็นเกินไป มาถึงตอนนี้หลายคนคงพอจะคลำทางได้ว่าหากจะไปดูต้นเมี่ยงที่ว่า โน่นครับต้องนึกไปถึงยอดเขาภูดอยสูงเสียดฟ้านั่นเอง
 

      "เมี่ยงเป็นชา...หรือว่าชาเป็นเมี่ยง"

     คำพูดนี้ออกแนวไก่กับไข่ แต่ความจริงหาใช่ออกแนวความหมายเชิงคำถามอย่างนั้นไม่ เมี่ยงจัดเป็นชาชนิดหนึ่ง แต่ชา (ทั่วไป) ไม่ได้เป็นเมี่ยงไปเสียทั้งหมด เนื่องจากมีความจำเพาะของการใช้ประโยชน์นั่นเอง ผมได้ลองค้นข้อมูลดูว่าในอดีตเคยมีการเรียกว่าชาเป็นเมี่ยงหรือไม่ มาถึงตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะมี คำว่า "ชาเมี่ยง" แต่อาจจะเป็นการเรียกขานกันในตอนหลังก็ได้เมื่อคนเมืองรู้จักการดื่มน้ำชาหรือวัฒนธรรมการดื่มชาจากจีน ส่วนนักวิชาการนักวิจัยได้พบว่าเมี่ยงที่ปลูกกันทางภาคเหนือของไทยที่แท้ก็คือชาชนิดหนึ่งนั่นเอง จึงมีการเรียกกันว่า "ชาเมี่ยง" เนื่องจากเมี่ยงสามารถนำไปทำใบชาสำหรับชงดื่มได้ สำหรับหลักฐานคำว่าเมี่ยงอันเก่าแก่นั้น อย่างน้อยสุภาษิตล้านนาที่มีมาในอดีตที่พอจะจำกันได้ง่าย อย่าง "เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม" จะไม่ปรากฏคำว่า "ชา" หน้าคำว่าเมี่ยงแน่นอน หรือคำว่า "ไอ้ขี้เมี่ยง" ก็ไม่เคยได้ยินว่า "ไอ้ขี้ชาเมี่ยง" อย่างนี้เป็นต้น หรือหลักฐานอื่นใดอย่าง หม้อ ไห ตะไหล ป๊าก (ฮ่า ๆ มันคือ อะไร?)  ที่มีในอดีตถึงปัจจุบันที่มีส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชงชานั้นก็ไม่ปรากฏ (ความหมายของภาษิตล้านนาที่เกี่ยวข้องกับเมี่ยงค่อยเขียนในหัวข้อต่อไป) มาถึงตอนนี้บางท่านอาจจะนึกถึงพืชบางชนิดที่เรียกว่า "ชาดัด" "ชาฮกเกี้ยน" หรือ "ชาข่อย" บ้าง จากข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ต้องบอกว่าทั้งสองชื่อนี้เป็นพืชคนละชนิดกับชาที่เรารู้จักกันและเป็นพืชที่อยู่คนวงศ์ตระกูลกันกล่าวคือ ชา หรือ ชาเมี่ยง อยู่ในตระกูล Theaceae สวนชาดัดนั้นอยู่ในตระกูล Boraginaceae ส่วนเมียงคำ เมี่ยงหลายคำ หรือเมี่ยงอื่น ๆ จะไม่พูดถึง ณ ที่นี้ คงต้องพาอากู๋อายูช่วยละครับ
 
ภาพฤาษีจูเนียร์
 

      ล่าสุดผู้เขียนได้รับทราบจากการบอกเล่าถึงประวัติหลักฐานอันสำคัญยิ่งเรื่องความเป็นมาของเมี่ยงล้านนา เป็นประวัติความเป็นมาอย่างแสนสุดคลาสสิค แบบว่าประวัติชาของเมืองจีนต้องหลบให้ เรื่องประวัติเมี่ยงที่จะเขียนต่อจากนี้ต้องบอกก่อนว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีอยู่จริงตามชุมชนที่มีการปลูกเมี่ยงในภาคเหนือและเล่าสืบต่อกันมา คงจะนึกออกละครับว่าเรื่องอันแสนคลาสสิคดังว่านั้นจะขึ้นต้นด้วยประโยคใด
     "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...(ฮ่า ๆ ฮิ้ว...) มีฤาษี 2 ตนได้แข่งกันบำเพ็ญเพียร โดยได้ตั้งกติกาต่อกันว่าใครจะนั่งบำเพ็ญได้อย่างยาวนานกว่ากันมากน้อยเพียงใดจะเป็นผู้ชนะ จากนั้นจึงได้แข่งขันกันอย่างขะมักเขม้น คืนหนึ่งฤาษีตนหนึ่งได้สังเกตเห็นฤาษีอีกตนหนึ่งได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรไม่ได้หลับได้นอน พอตกเวลากลางคืนก็แลเห็นจุดไฟกองไฟและตะเกียงที่มีแสงไฟเล็ก ๆ อยู่ข้าง ๆ พร้อมกับแลเห็นว่าฤาษีตนนั้นมีลักษณะท่าทางทำโน่นทำนี่สลับกับการนั่งบำเพ็ญอย่างนี้ทุก ๆ คืน จึงแอบนึกในใจว่าตนเองคงทำไม่ได้เท่าเขาหรือว่าฤาษีตนนั้นมีตัวช่วยอะไรดีรึ จึงนึกอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาและบอกกับตัวเองว่าหากสบโอกาสเมื่อไหร่จะแอบเข้าไปดูว่ามีตัวช่วยอะไรอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า หลังจากได้โอกาสจากที่รอคอยมานาน คืนหนึ่งหลังจากที่ฤาษีตนนั้นได้ออกไปทำธุระส่วนตัว (หรือเปล่า?) จึงได้รีบแอบไปดู ณ ที่แห่งนั้น จึงพบว่า ฤาษีตนนั้นไม่ได้ดื่มน้ำเปล่า ๆ เหมือนเราเลย ภายในกาต้มนั้นปรากฏว่ามียอดใบพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เสนาสนะแห่งนั้นถูกต้มอยู่ในนั้นด้วย และแล้วจึงได้ถือโอกาสแอบลองจิบดู แล้วรีบกลับมายังที่ตั้งของตน ต่อมาจึงเกิดความรู้สึกว่ากระชุ่มกระชวยดีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน (นั่นแน่ ถึงตอนนี้คุณผู้อ่านบางท่านคงเดาเนื้อเรื่องออกซิว่า จะมาจบตอนไหน ฮ่า ๆ  ยังครับมันยังไม่ถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องครับ หากเป็นเพลงก็ยังคงไม่ถึงท่อนฮุกนะครับ) อ้าว มาต่อครับยังไม่จบครับยังครับ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นแข็งขันนะครับ ยังไม่มีผู้แพ้ชนะ (ส่วนจะถึงขั้นเอาชีวิตเดิมพันหรือไม่อาจทราบได้) จากนั้นฤาษีตนที่แอบย่องไปหาคำตอบ ได้เกิดไอเดียบรรเจิดว่าถ้าหากทำตามที่ตนคิดไว้คงจะเห็นหนทางแห่งชัยชนะจะๆ นั่นคือ หากจะทำให้ทน อดหลับอดนอน และกระชุ่มกระชวยเป็นทวีคูณนับสิบ ๆ เท่า  ต้องกินทั้งใบ (ฮ่า ๆ)  พร้อมกับสบถในใจว่าแค่ต้มกินน้ำจะสู้ข้าได้อย่างไรกัน และแล้วจึงได้แอบลงมือในเวลาต่อมาของวันรุ่งขึ้น โดยขั้นแรกได้ทดสอบกินใบสดก่อน จึงพบว่าส่วนที่เป็นใบแก่นั้นรสชาติแสนจะทรมานใจเสียเหลือเกิน หากเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้คงบอกว่ามีรสชาติไม่ต่างกับเลียเสาไฟฟ้าอย่างใรอย่างนั้น จากนั้นจึงได้ทดลองกินยอดอ่อนในเวลาต่อมา จึงพบว่าพอทานได้ (ไม่กล้าใช้คำคำๆ นั้น ฮ่า ๆๆ) แต่ไม่ถึงกับถูกจริตของปากมากนัก เพราะมันยังคงมีรสชาติออกฝาด ๆ อยู่ (หากมีปลากระป๋องสมัยนั้นเมี่ยงคงไม่เกิดแน่ ฮ่า ๆ)  จึงคิดว่าต้องนำไปทำให้สุกก่อนน่าจะแก้ไขเรื่องรสชาติอันไปปรารถนานี้ได้ หลังจากได้ลงมือทำและชิมดู ปรากฏว่าใช่เลย (นี่เพิ่งมาท่อนฮุกที่หนึ่งของเรื่องนี้) เพื่อให้เกิดความคงทนต่อการหลับนอนในครั้งแรกนี้จึงทดสอบไปเสียหนึ่งกำมือ  ปรากฏว่าคืนนั้นไม่ได้หลับได้นอนและเป็นไปตามคาด (ฮ่า ๆ โอเวอร์โดส) แต่มีข้อเสียไม่เหมาะกับการบำเพ็ญเพียรคือ ใจเต้นกระสับกระส่าย (คงคล้ายกับคนซดกาแฟหนึ่งลิตรในครั้งเดียวหรือไม่ก็คนไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อนแต่ข้ามรุ่นไปกินแอสเปรสโซ่ อะไรอย่างนั้น) เมื่อทราบถึงฤทธิ์อันร้ายกาจของพืชชนิดนี้แล้ว จึงได้ลดปริมาณลงมาให้พอดีในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากตนเป็นฤาษีจะต้องบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นหลักแหล่งหรืออยู่กับที่เป็นหลัก ทำอย่างไรน้อถึงจะได้ทำครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บไว้กินได้ในเวลานาน ๆ จึงได้คิดหาวิธีถนอมอาหารขึ้น ด้วยความบังเอิญคือ หลังจากทำการนึ่งยอดพืชชนิดนั้นในปริมาณมาก ๆ แล้ว ได้เก็บห่อไว้ด้วยใบตองน่าจะดีกว่า และแอบเอาออกมาทานทีละเล็กที่ละน้อย นั่นเป็นสิ่งที่ได้ผลและเป็นไปตามคาด หลังจากทานเหลือจึงพบว่านานวันเข้าจึงเกิดมีรสเปรี้ยวขึ้น และยังพบอีกว่ามีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมมากกว่าเดิม (หึหึ..ลากมาถึงตรงจุดนี้จนได้ ถ้าฤาษีได้ใส่เกลือและขิงดองและเมล็ดบ่ากิ้งคั่วลงไปด้วยล่ะอย่าบอกใคร) แต่ก็ยังไม่ถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องอยู่ดี แล้วคำว่าเมี่ยงมันมาจากไหน โอ้ยไม่อยากจะบอกในที่นี้เลยอายเหมือนกันนะเนี่ย เขาเล่าเรื่องนี้มาให้ฟังแค่ 3 บรรทัด ไม่ว่ากันเน๊าะมันคงเข้าหน้าร้อนแล้วมันเลยขยายตัวมาซะยืดยาว และหมดไข่ไปเป็นแผง ฮ่า ๆ เพื่อจะมาบอกว่า เมี่ยง มันมาจากปรากฏการณ์ที่ฤาษีจุดไฟเพื่อนึ่งหรือต้มใบพืชชนิดนั้นนั่นแหละ และแสงไฟส่องประกายเล็ดรอดออกมาให้เห็น ภาษาเหนือเขาจะเรียกว่า "ต๋ามไฟเหม็ง ๆ" คำว่า เหม็ง ๆ นี่แหละต่อมาภายหลังได้นำไปตั้งชื่อพืชชนิดนี้คือ "เมี่ยง" แล้วประวัติเมี่ยงก็จบลงด้วยประการชะนี้แล..โดยไม่ทราบว่าฤาษีตนไหนแพ้หรือชนะ..? เอวัง...
ภาพถุงบรรจุเมี่ยงที่หมักได้ที่แล้วและรอการนำไปจำหนาย

      จากข้อมูลการค้นคว้าวิจัยพบว่า เมี่ยง ในภาคเหนือของไทยเป็นชาพันธุ์หนึ่ง ที่มีการปลูกมานานแล้ว แต่ไม่มีใครฟันธงได้ว่าเริ่มปลูกหรือบริโภคมานานเท่าใด  มาถึงตอนนี้ผู้เขียนเองเกิดอาการงุนงงเหมือนกันเมื่อไปเจอข้อความว่า เมียง เป็นชาอัสสัม หากตั้งสติคิดไม่ทันคงหมายความว่าเมียงถูกนำเข้ามาจากรัฐอัสสัมประเทศอินเดียชะแล้ว แท้ที่จริงเมี่ยงมันมีอยู่เก่าก่อนแล้วในถิ่นนี้ คงเป็นเพราะฝรั่งเข้ามาศึกษาชาในอินเดีย พบชาพันธุ์หนึ่งที่ปลูกกันมากในรัฐอัสสัมจึงเรียกว่า ชาอัสสัม ต่อมามีการศึกษาในไทยพบพบว่าเมี่ยงเป็นชาพันธุ์หนึ่งที่ไปเหมือนกับของอินเดียเลยมีการเขียนกันว่าเป็นชาอัสสัม ตกลงไม่ทราบว่าใครเหมือนของใคร? สุดท้ายมันก็คือเมี่ยงเหมือนเดิม เพียงแต่ใครจะไปเจอก่อนหลังกัน จึงเรียกสิ่งนั้นตาม มีเรื่องเล่าถึงการตั้งสรรพนาม ที่เราพอจะรู้จักกันอย่าง "ปลาปากนกแล้ว" แสดงว่าเคยเห็นนกปากนกแก้วมาก่อน แล้วมาเห็นปลาชนิดนี้ปากเหมือนนกแก้วจึงเรียก "ปลาปากนกแก้ว"  หากจะเรียก "นกแก้วปลา" (ที่เหมือนปากนกแก้วชนิดนั้น) แสดงว่าคนเคยเป็นปลาชนิดนั้นมาก่อนใช่หรือไม่?
     สำหรับชนิดของเมี่ยงนั้น ได้ทราบข้อมูลอีกว่า ชาผู่เอ๋อในจีน ก็คือ เมี่ยง ของภาคเหนือของเราอีกด้วย ตกลงท้ายสุดจริง ๆ ทั้งเมียง ชาอัสสัม และชาผู่เอ๋อ (Pu-erh) เป็นคน ๆ เดียวกัน แต่ไปปรากฏกายต่างถิ่นเท่านั้น ชาผู่เอ๋อในมณฑลยูนานของจีนนับเป็นชาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติศาสตร์และตำนานเล่าขานเกี่ยวกับชาในประเทศนี้แบบที่ว่า เล่าสามวันไม่จบ ที่นั่นเขาหวงต้นชาที่เก่าแก่เปรียบเสมือนญาติโกโหติกาหรือเหล่าบรรพบุรุษ และจะต้องรักษาด้วยชีวิตก็ปานนั้น ที่สำคัญคือ เขาประกาศก้องไปทั้งสามโลกว่า ที่นี่คือที่กำเนิดเทพเจ้าแห่งชา ไม่มีใครมีต้นชาที่เก่าแก่ไปกว่านี้อีกแล้วและชาชนิดนี้ดันเป็นต้นชาเมี่ยง หรือ เมี่ยงที่กำลังพูดถึง ชะงั้น


ภาพต้นชาที่ได้รับการยืนยันว่ามีอายุมากที่สุดของโลก คือชาผู่เอ๋อ มีอายุ 3200 ปี อยู่ที่มณฑลยูนาน
      ในทางการตลาดเกี่ยวกับการค้าการขายชาแล้วเขาเอาบรรพบุรุษตนนี้โฆษณาอย่างพิศดารเลยทีเดียว อย่างในปี 2007 เขานำชาผู่เอ๋อที่ต้นอายุ 3200 ปีไปทำชาหมักก้อน (teacake) ที่มีขนาดน้ำหนัก 1.1 ปอนด์ สามารถขายได้ในราคาสูงถึง 40,000 ดอลลาร์ (หึ หึ ขายชาก้อนละล้านสอง) ยิ่งทำให้ดังระเบิดเถิดเทิงกันไปใหญ่ นอกจากนี้ข้อมูลทางวิชาการยังดาหน้าออกมาหนุนถึงคุณประโยชน์แบบไร้ที่ติ ยกเว้นดื่มจนท้องแตกตาย นั่นแหละ มาถึงตอนนี้บางท่านอาจจะปิ้งไอเดียว่า ทำไมไม่เอาเมี่ยงสวมรอยชาผู่เอ๋อไปเลยละ ในทัศนผมคิดว่าคงได้ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามหากเราไม่สามารถพบตัวเราเองยังไงๆ ก็เป็นพระรองอยู่ดี   เออคราวนี้ลองหันมาดูเมี่ยงบ้านเรากันบ้าง จะลองขวาหันซ้ายหันลองถามคนที่คิดว่าน่าจะถามถูกคนว่า ต้นเมี่ยงที่มีอายุมากและเก่าแก่ที่สุดมีอยู่ก่อและอยู่แห่งหนตำบลใด? (หึ หึ คงรู้คำตอบกันนะครับ) นั่นซิ ต้นไม้เก่าแก่บ้านเรามันกลายเป็นตั้นไม้พันธุ์ "เอ้อ" กันไปเสียหมดแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปสำรวจพันธุ์พืชในที่ต่าง ๆ ได้ถามชาวบ้านว่าเคยเห็นต้นนั้นต้นนี้มั๊ย คำตอบที่มาก่อนส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้พันธุ์นี้ครับคือพันธุ์ "เอ้อ"  เช่น เอ้อ..เหมือนจะเคยเห็น  เอ้อ...เมื่อยังละอ่อนเคยกิน เอ้อ...เมื่อก่อนเคยอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น นี่แหละต้นไม้พันธุ์เอ้อ ส่วนสาเหตุของการเป็นต้นไม้พันธุ์เอ้อนั้น ผมคงไม่ต้องสร้างวจีกรรมไว้ ณ ที่นี้ แต่อยากจะสร้างวจีกรรมไปวันข้างหน้าว่า รากเหง้าเหล่ากอของต้นไม้เหล่านี้เปรียบเสมือนบรรพบุรุษที่ยังคุณูปการแก่แผ่นดินที่ควรจะต้องช่วยกันปกปักรักษาอาจจะถึงขั้นขึ้นทะเบียนเหมือนกับโบราณสถานแห่งชาติ (ฮ่า ๆ ว่าไปนั่น)  ส่วนจะนำไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมใดก็สุดแต่เหตุอันควรในอนาคต

      "ชาเคี้ยว...หนึ่งเดียวของโลก"

      สำหรับคนล้านนาหรือคนเมืองพื้นเพในถิ่นเหนือในอดีต หากท่านใดมีโอกาสต้อนรับแขกทั้งระดับวีไอพีหรือนอนวีไอพีก็ตาม การเชื้อเชิญแขกต่างบ้านต่างเมืองให้เคี้ยวชา โดยมิได้อธิบายที่มาที่ไปเห็นท่าจะวงแตกก่อนจะได้ทาน สำหรับที่แห่งนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะในการบริโภคชาแบบ "เคี้ยว" ภาษาเมืองเหนือเรียกว่า "เกี๊ยวเมี่ยง" หรือ "อมเมี่ยง"  จากประสบการณ์ของผู้เขียนคิดว่าการบริโภคชาแบบเคี้ยวน่าจะเป็นที่แห่งเดียวของโลกก็ว่าได้ พลเมืองส่วนใหญ่ของโลกร่วม 6000 ล้านคนนิยมบริโภคชาจากการนำใบมาทำให้แห้งและแช่น้ำร้อน สิ่งที่ได้เรียก"น้ำชา" หากยกยอเป็นแก้วอาจเรียก "ดื่มน้ำชา" หากร้อนมาก ๆ ต้องทานทีละน้อย ๆ อย่างระมัดระวังเรียกกิริยานี้ว่า "จิบน้ำชา"  ไม่เคยได้ยินและเห็นการ "จิบน้ำเมี่ยง" นอกจากนี้ยังมีความหมายแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" และก็ไม่เคยได้ยินเสียด้วยซ้ำไปกับคำว่า "ค่าน้ำร้อนน้ำเมี่ยง" สำหรับความหมายของคำ ๆ นี้ผู้เขียนจะขออนุญาตไม่อธิบาย ณ ที่นี้ แต่พอจะทราบเพียงแต่ว่ามันมีค่าราคาแพงในปัจจุบัน  (ปล. ในทางวิชาการ สำหรับวัฒนธรรมการบริโภคชาแบบเคี้ยวน่าจะต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีชนชาติอยู่กี่แห่งหนตำบลใดบ้างที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมนี้)
      อย่างไรก็ตามหากได้ค้นคว้าประวัติชาในไทยแล้วค้นไปในทุก ๆ ซอกของเครือข่ายใยแมงมุมก็จะเจอข้อความเหมือน ๆ กัน ว่าไทยกับจีนได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน้น เนื่องจากทูตฝรั่งเศษชื่อ ลาลูแบร์ได้เขียนบันทึกไว้ว่ามีการดื่มกันแล้วและมักตระเตรียมไว้ต้อนรับแขก (ส่วนแขกสมัยโน้นกับแขกสมัยนี้จะเป็นแขกแบบเดียวกันหรือไม่มิทราบได้) ส่วนการจัดจำแนกประเภทชาตามกรรมวิธีการแปรรูปแล้วในวิกิพีเดียเขียนไว้ว่ามีอยู่ 6 อย่างด้วยกัน โดยชาเมี่ยงนั้นคาดว่าน่าอยู่ในกลุ่มของชาหมัก เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่ชี้ชัดว่าชาหมักมีการแปรรูปแบบชาเมี่ยง แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีการกล่าวถึงการบริโภคชาแบบเมี่ยงคือ การเคี้ยว
      จากการได้สอบถามข้อมูลเรื่องเมี่ยงจากผู้สูงวัยในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่พบว่า เมี่ยงมี 2 ลักษณะคือ เมี่ยงขาว และเมี่ยงแดงหรือเมี่ยงก่ำ เมี่ยงก่ำเป็นเมี่ยงที่มีจำนวนน้อยและหายากกว่าเมี่ยงขาว แต่เมื่อนำมาทำเมี่ยงที่หมักแล้วจะให้รสชาติที่ไม่ต่างกัน

ภาพยอดใบของ "เมี่ยงก่ำ" หรือ "เมี่ยงแดง"  ซึ่งเป็นเมี่ยงอีกลักษณะหนึ่งที่มียอดสีแดง
      อย่างที่เกริ่นในตอนต้นว่า การบริโภคเมี่ยงที่เป็นชาชนิดหนึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ การเคี้ยว (ภาษาพื้นถิ่นเรียก เกี๊ยวเมี่ยง บ้างเรียก อมเมี่ยง ความจริงคือทั้งอมและเคี้ยว) ลักษณะอาการจะคล้ายกับเคี้ยวหมากฝรั่ง การเคี้ยวเมี่ยงให้อร่อยต้องเคี้ยวอย่างมีสุนทรียทางอารมย์ คือเคี้ยวอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ ไม่จำเป็นต้องเคี้ยวอย่างรีบเร่งเหมือนหมากฝรั่ง และไม่จำเป็นต้องช้าจนเกินไปเหมือนเคี้ยวเอื้อง จ๊ะอึ๋ย!! ว่ากันว่าการเคี้ยวเมี่ยงให้ได้อารมย์อย่างถึงที่สุดจะต้องอัดควันบุหรีขี้โยเข้าปอดร่วมด้วยเป็นจังหวะๆ (ขี้โย คือ เปลือกฝักมะขามสุกนำมาตากแห้ง ป่นเป็นชิ้นเล็ก ผสมกับยาเส้นสำหรับทำบุหรี)  ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนจังหวะการเคี้ยวต่อการอัดบุหรี 4-5 ต่อ 1 ครั้ง และระหว่างการคายควันออกจากปอดนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะยังคงเคี้ยวเมี่ยงผสมควันไปในตัวด้วย ดังมีคำบอกกล่าวว่า เมี่ยงกับบุหรี น่าจะเป็นของคู่ชู้รักกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว ทั้งหลักฐานปรากฏทั้งภาษาพูด และภาพวาดตามฝาผนังโบสถ์วิหารที่เก่าแก่อยู่หลายแห่งในภาคเหนือ  มีสิ่งบ่งบอกอีกอย่างที่ผู้เขียนสังเกตเห็นการเคี้ยวเมี่ยงอย่างเอร็ดอร่อยนั้นจะต้องเคี้ยวให้เสียงดัง "แจ๊บ ๆ" (จริงหรือเปล่า ?) มันเป็นพฤติกรรมของการเคี้ยวอย่างมีอารมณ์ความสุขที่เดียว อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศเชื้อเชิญผ่านสัญชาตญาณให้ผู้อื่นเกิดน้ำลายไหลก็เป็นได้ และเป็นการส่งสัญญาณอันทรงเกียรติให้เจ้าของบ้านได้รับรู้ว่า "เมี่ยงสู..แซบเว่อร์"
      อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการ "เคี้ยวเมี่ยงหรืออมเมี่ยงสูบบุหรี" (เกี๊ยวเมี่ยงสูบมูลี) ของล้านนา เป็นเรื่องของกาลเทศะอย่างแน่นอน และมีพิธีการพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย แม้แต่พิธีการเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา การติดสินบนเจ้าที่เจ้าทาง จะขาดเมี่ยงและบุหรี (แถมเหล้าขาว) เสียมิได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้สิ่งที่มองไม่เห็นก็เสพติดกันงอมแงมเช่นกันถึงจะจากภพนี้ไปแล้ว แบบว่าเสพข้ามภพข้ามชาติว่างั้นเถอะ  นี่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยจากกลิ่นไอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาบ้างครั้งแต่ในอดีต
      จากการได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองเชียงรุ้ง (ภาษาถิ่นออกเสียงเจงฮุ่ง คนจีนต่างถิ่นออกเสียงดั้งเดิมเขาไม่ได้เลยออกมาเป็น จิ่งหง) สิบสองปันนาของจีนผู้ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า Tropical Rainforest Ethืnic Culture Museum ที่ตั้งอยู่ในส่วนพฤกษศาสตร์แห่งเมืองสิบสองปันนา เขาได้แสดงหลักฐานประวัติการสูบบุหรี่ที่น่าสนใจและครบถ้วนพอสมควร สิ่งหนึ่งที่ไปพบที่นี้คือ มีหลักฐานของยาสูบพันธุ์ท้องถิ่นที่นำมาสูบกัน เรียกชื่อว่า Red Tobacco หากแปลตรงตัวก็น่าจะชื่อว่า ยาสูบแดง เขานำมาจัดแสดงให้ดูพร้อมกับเขียนป้ายประกอบการอธิบายว่า Red Cut Tobacco คงจะหมายถึง ยาสูบที่ถูกหั่นเป็นเส้น ๆ  ที่เคยเห็นในเมืองไทย นั่นแสดงเห็นว่ายาสูบพันธุ์ท้องถิ่นมีมาในถิ่นนี้แน่นอน ส่วนการอมเมี่ยงนั้นไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน หากมีการศึกษาวิจัยในอดีต อาจจะไม่แน่
 

ภาพลักษณะ ยาเส้น หรือ Red cut tobacco ภายในพิพิธภัณฑ์ Tropical Rainforest Ethnic Culture Museum สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน


ภาพวาดคล้ายการสูบบุหรี่ที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง บนฝาผนังวิหารลายคำ
 ของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่



 
 สองภาพด้านบนนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพต่างเพศได้เป็นอย่างดี จากวัฒนธรรมการ "อมเมี่ยงสูบมูลี" เป็นลักษณะท่าทางของการแลกเปลี่ยนหรือขอไฟเพื่อจุดบุหรี เป็นภาพจากฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเช่นกัน

      ต๋ามฮีตโตยฮอย..เมี่ยง

     "ต๋ามฮีต...โตยฮอย" เป็นคำกล่าวที่มีนัยของการย้อนเวลาหาอดีต จากหลักฐานต่าง ๆ ว่าร่องรอยของเมี่ยงในกาลเวลาเป็นอย่างไร สำหรับหัวข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ หากจะเขียนเป็นจริงเป็นจัง ต้องมีงานวิชาการรองรับ และอาจจะเขียนหนังสือกันเป็นเล่มเชียวละครับ แต่ ณ ที่นี้เป็นการเขียนเอาม่วนนะครับ หากจะหาคำตอบให้ได้เป็นจริงเป็นจังต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังนะผมว่า ลองหาอดีตเมี่ยงกับคำถามอยากรู้อยากเห็นเล่น ๆ ดูนะครับ..อะแฮ่ม...
 
       คืออยากรู้ว่า  มีใครทราบบ้างหรือไม่ว่า คำว่า "เมี่ยง" ปรากฏหลักฐานเอาเป็นว่าเก่าแก่ที่สุดเป็นอะไร? มีการจารึกเป็นหลักฐานไว้ที่ใดบ้าง จะอยู่ในปั๊บสาใบลาน ฝาผนังโบสถ์วิหารแห่งใดหรือไม่ คำตอบที่บอกเป็นเชิงเวลาว่ายุคไหนเวลาไหนอาจจะใช้วิธีเทียบเคียงได้ ผู้เขียนเคยลองค้นหามาบ้างว่าหลักฐานอันเก่าแก่ในล้านนา อย่างตามฝาผนังโบสถ์วิหารว่าจะมีภาพคนเคี้ยวเมี่ยงหรือไม่ เนื่องจากมีคำพูดว่า "อมเมี่ยงสูบมูลี" อันหมายถึง หากที่ใดมีการเคี้ยวเมี่ยงมักจะมีการสูบบุหรีด้วย ดูแล้วจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่น่าฉงนเป็นอย่างยิ่งกล่าวคือ ระหว่างการทำกิริยาเคี้ยวยังจะต้องทำกิริยาสูบ ให้สอดประสานจังหวะกันให้ได้อรรถรสในเวลาเดียวกัน ตามฝาผนังโบสถ์วัดเก่าแก่ในภาคเหนือในหลาย ๆ ที่ ดูเหมือนจะมีเฉพาะภาพวาดคนสูบบุหรี่ ไม่ปรากฏคนเคี้ยวเมี่ยง หรือมีถาดเมี่ยงปรากฏให้เห็น เออ... หรือว่าการวาดภาพคนเคี้ยวเมี่ยงมันยากกว่าวาดคนสูบบุหรีก็เป็นได้ หรือในปากมีการเคี้ยวเมี่ยงอยู่แล้วแต่เราดูไม่ออก ก็มิอาจทราบได้ หากนึกต่อไปว่าหากจะต้องวาดคนเคี้ยวเมี่ยงขึ้นมาจริง ๆ ภาพมันจะออกมายังไง นึกบ่าออกงะ..และขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าถึงบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังค้างคาใจกับคำถามนี้อยู่..
      คราวนี้ลองมาดูบุหรี หรือมูลี ของคู่จู้(ชู้)รัก กับเมี่ยงกันบ้าง ถามเล่น ๆ กันว่าสมัยก่อนเขาเอาอะไรมาสูบกัน ชักจะสงสัยว่าลักษณะมวน ๆ ตามภาพวาดผนังโบสถ์วิหารนั้นแท้จริงมันคือ บุหรี่ ที่มียาสูบหรือยาเส้นอยู่ข้างในจริงหรือไม่? แล้วในอดีตมีคำเรียกยาสูบว่าอะไร? หากเป็นยาสูบจริงหน้าตาจะเป็นอย่างไร? จากข้อมูลที่มีให้อ่านกันทั่วบ้านทั่วเมืองบอกว่ายาสูบมีแหล่งกำเนิดที่อเมริกากลาง แล้วมิทราบว่าได้เหาะเหินเดินอากาศเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร?  เอาเป็นว่าหากวัดพระสิงห์วรมหาวิหารสร้างเมื่องปี พ.ศ. 1888 ในสมัยพญาผายูกษัติราชวงศ์มังราย แล้วมีภาพคนสูบบุหรีที่ทำมาจากยาสูบที่ฝาผนังวิหารที่สร้างร่วมสมัยเดียวกัน จะทำให้หลักฐานอื่นที่มีการบันทึกถึงยาสูบที่เก่าแก่ที่สุดกลายเป็นละอ่อนไปทันที่ แม้แต่บันทึกของโคลัมบัสที่มีมีการกล่าวถึงเรื่องยาสูบเมื่อปี พ.ศ. 2035 (คงต้องรอผู้รู้มาไขปริศนาแล้วกัน)



      เมี่ยงในสุภาษิตล้านนา

      สุภาษิตล้านนาที่เกี่ยวกับเมี่ยงน่าจะมีมาอย่างยาวนาน สำหรับผู้เขียนเองเคยได้ยินสุภาษิตเหล่านี้ตั้งแต่เป็นละอ่อนครั้งยังอ่านหนังสือไม่อออกด้วยซ้ำ "เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม" ภาษิตนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากสำหรับคนเมือง ดูเหมือนในเครือข่ายใยก่ำปุ้ง (แมงมุม) มีอธิบายไว้เป่อเร๊อะ  ภาษิตนี้น่าจะมีความหมายไปในแนวการลงทุนที่หวังผลแบบเลื่อนลอยเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ อย่างการเอาลูกเปิ้น (ลูกเขา) มาเลี้ยง หากลงทุนหรือเลี้ยงดูด้วยความเมตตาไม่หวังผลอะไรมากมายก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปัญหาของสุภาษิตนี้คงอยู่ที่การคาดหวังผลกำไรที่แน่นอน แม่นก่อครับ
      ส่วนอีกคำหนึ่งคือ "ขี้เมี่้ยง" คำนี้น่าสนใจ หากบ้านท่านผู้อ่านมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย อย่างมีด พร้า จอบ เสียม พลั่ว และอื่น ๆ ที่ทำมาจากโลหะเหล็ก หากใช้ไปนานวันเข้าจะสังเกตุมีคราบสีน้ำตาลเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ นั่นเป็นผลพวงมาจากการทำปฏิกริยาระหว่างเหล็กกับอ๊อกซิเจนจนปรากฏเป็นสารสีน้ำตาล ทางเคมีเรียก เฟอร์รัสอ๊อกไซด์ เกิดขึ้น ภาษาเหนือเรียกกันทั่วไปว่า "ขี้เมี่ยง" ขี้เมี่ยงถือเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เมื่อเกิดขึ้นกับวัสดุอุปกรณ์ดั่งว่าคนส่วนใหญ่ก็มักจะหาวิธีกำจัดทิ้ง เช่น ขัด ถูก ฝน ทิ้ง เป็นต้น  ถือเป็นปัญหาอุปสรรคและภัยคุกคามกับเครื่องมือที่ทำมาจากเหล็กเป็นอย่างยิ่ง หากเปรียบเป็นคนในสังคมที่ไร้ประโยชน์ ภาษาเหนือเขาจะเรียกว่า "ไอ้ขี้เมี่ยง" นั่นพึงรู้ว่าเป็นคนไร้ค่าต่ำราคา และไม่ปรากฏหรือนิยมเรียกกันว่า "อีขี้เมี่ยง" หากจะใช้คำว่า ไอ้ อี ในการแยกเพศ เขาจะใช้ "ไอ้" เหมารวมทั้งสองเพศสำหรับสุภาษิตนี้
      แล้วหากจะถามว่า แล้วขี้เมี่ยงจริง ๆ มันเป็นอย่างไร? ความหมายก็มาแนวเดียวกันนั่นแหละครับ กล่าวคือ หลังจากที่เราเคี้ยวเมี่ยง เป็นที่อิ่มใจสบายอารมณ์เรียบร้อยแล้ว  คือ เคี้ยวไปจนมีรสจืด หรือจนกว่าจะพอใจ จะต้องคายกากเมี่ยงทิ้ง สิ่งที่คายออกจากปากออกมาทิ้งนี่แหละเขาเรียกว่า "ขี้เมี่ยง"  นั่นเอง ถือว่าไร้ค่า ไม่ควรจะคงอยู่ในปากอีกต่อไป  อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการเคี้ยวเมี่ยงปกติเมื่อเคี้ยวแล้วจะคายกากทิ้ง มีเป็นส่วนน้อยที่ทราบว่ามีการกลืนกินทั้งกาก นั่นหมายถึงไม่เหลืออะไรออกมาเลย คงได้รับสารเสพติดอย่างคาเฟอินไปแบบเต็มร้อยอย่างมิได้ตกหล่น เรื่องของสารเสพติดในน้ำชากาแฟนี่ก็น่าสนใจเช่นกัน เคยมีรายงานว่าหากเราดื่มน้ำชากับกาแฟในประมาณเท่า ๆ กันนั้น พบว่าการดื่มชาจะได้ คาเฟอีน มากกว่ากาแฟเสียอีก มิน่าเล่า คนเหนือหลังการเปิบข้าวเหนียวแล้วถึง "เกี๊ยวเมี่ยงฮ้าวมูลี" โตยทันที คือว่ามันจะช่วยให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนนั่นเอง หากมัวแต่นอนไม่ทำการทำงานอาจถูกตีตราว่าเป็น "ไอ้ขี้เมี่ยง"  ก็ตัวใครตัวมันละครับเน้อ..ครับ.
     ปล. สำหรับผู้สนใจเรื่องเมี่ยงแบบเต็มอิ่ม สามารถร่วมสัมผัสวัฒนธรรมเมี่ยงได้ในระหว่างเดินทางไปร่่วมทำบุญ ณ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย ส่วนวันเวลาจะได้แจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป