Day and Night

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ตัวอย่างหุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ประกาศ ! ขอเลื่อนการนำหุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ขึ้นไปประดิษฐานออกไปอีกระยะหนึ่ง  เนื่องจากการสร้างหุ่นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และจะแจ้งวันเวลาที่แน่นอนต่อไป

 
     หลังจากที่ได้เดินทางไปยังสำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะผู้ร่วมเดินทางได้ร่วมปรึกษาหารือกับทางสำนักสงฆ์และชาวบ้าน โดยมีความเห็นร่วมกันที่จะร่วมกันจัดสร้างหุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สำหรับนำมาประดิษฐานไว้บนกุฏิหลวงปู่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ กราบสักการะบูชา ระลึกถึงปฏิปทาคุณงามความดี เป็นแบบอย่างวิถีอันประเสริฐในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาสืบไป
      สำหรับสล่าผู้ปั้นหุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น คือ ผศ.ธานี อดิศัยพัฒนะกุล อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีเซรามิก คณะปฏิมากรรมและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างหุ่นเหมือนและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหุ่นเหมือนของพระอริยสงฆ์ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา 16 ปีมีมากถึง 38 รูป และหุ่นปั้นอื่น ๆ อีกจำนวนมาก  ในการจัดสร้างหุ่นในครั้งนี้คณะศรัทธามีความตั้งใจที่จะนำไปประดิษฐานที่กุฏิหลวงปู่มั่น ณ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย
 
  
 การปั้นหุ่นเหมือนหลวงปุ่มั่น ภูริทัตโต
  








ส่วนศีรษะของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปั้นจากดินเหนียว




 
 
 
 
หุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ระหว่างการปั้นด้วยดินเหนียว
ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ยังจะต้องถอดแบบอีก 2 ครั้งจนกว่าจะเป็นหุ่นไฟเบอร์
(ภาพถ่ายวันที่ 20 สิงหาคม 2557)

    
 
ผลงาน : 16 ปี ประติมากรรมแห่งศรัทธา
              ธานี  อดิศัยพัฒนะกุล
  
ผศ.ธานี อดิศัยพัฒนะกุล
อาจารย์ผู้สร้างหุ่นเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
สำหรับประดิษฐาน ณ กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สายใหม่ จังหวัดเชียงใหม่


ภาพปกหนังสือรวมผลงานประติมากรรมระหว่างปี พ.ศ. 2538-2554
16 ปี : ประติมากรรมแห่งศรัทธา

 
 

 ผลงานบางส่วนจากหนังสือ 16 ปี :

 ประติมากรรมแห่งศรัทธา

 
 

 

 
 

 
 
 

 
รูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
 
ได้รับอนุญาตนำข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ 16 ปี ประติมากรรมแห่งศรัทธามาเผยแพร่ ณ ที่นี้
ขอขอบพระคุณอาจารย์ธานี อดิศัยพัฒนะกุลเป็นอย่างสูง

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ป่าเมี่ยง..สุดขอบฟ้า

    

 

       จากการเดินทางไปป่าเมี่ยงแม่สาย มีส่วนผลักดันให้ผู้เขียนอยากรู้อยากเห็นเรื่องเมี่ยงขึ้นมาโดย ไม่ได้ตั้งใจจะไปศึกษาสำรวจเรื่องเมี่ยงเป็นหลัก จากนั้นจึงได้ถามผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ตลอดจนหาข้อมูลบางส่วนจากเครือข่ายใยแมงมุม มาผสมกันเป็นแกงโฮ๊ะ แล้วจึงนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านตัวหนังสือ บทความนี้อาจจะเรียกเป็นแนว "อ่านเอาม่วน" ไม่มีเจตนาเขียนแบบ "อ่านเอาความ" หรือ "อ่านเอาเรื่อง" และค่อนข้างออกแนวสาระ + บันเทิง ชะมากกว่า น้อง ๆ เยาวชนหากมาเจอบทความนี้โดยบังเอิญโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อย่าเผลอก๊อปปี้ไปแปะ ทำรายงานครูทั้งดุ้นแล้วกัน เพราะมันจะกลายเป็น "อ่านได้เรื่อง" ขึ้นแทน...
 
      "ป่าเมี่ยง..สุดขอบฟ้า" เป็นหัวเรื่องโพสต์นี้ หากใครเป็นคนเมืองหรือคนที่ตั้งหลักปักฐานในพื้นถิ่นล้านนา คงจะคุ้นเคยกับคำว่า "เมี่ยง" กันมาบ้าง ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มสอวอ อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะคุ้นเคยว่าได้ลิ้มลองรสชาติของเมี่ยงมาบ้างตอนเป็นเด็ก หรือไม่ก็เคยเห็นพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยอมเมี่ยงให้เห็นเป็นประจำหลังรับประทานอาหารในทุก ๆ มื้อ แต่อาจจะไม่เคยเห็นต้นเมี่ยงและกรรมวิธีการทำเมี่ยงเลยก็เป็นได้
     "ป่าเมี่ยง" หากจินตนาการตามคงเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีแต่ต้นเมี่ยงเต็มไปหมด นั่นหมายความว่าท่านจินตนาการได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงว่าเป็นป่าไม้ การเดินทางไปดูสถานที่จริงของป่าเมี่ยงนั้น มีความอยากพอควร ผู้เขียนเองเป็นคนพื้นราบ ยังไม่เคยเห็นป่าเมี่ยง เคยเห็นแต่เฉพาะสวนเมี่ยง เป็นสวนที่ถูกปลูกสร้างจากคนบนที่สูงนั่นเอง ส่วนป่าเมี่ยงอาจจะมี แต่ที่พบเห็นจะมีต้นเมี่ยงที่ขึ้นตามป่าธรรมชาติบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นไม้เด่นพอจะเรียกว่าเป็นป่าของต้นเมี่ยงได้ ส่วนสวนเมี่ยงนั้น ต้องบอกว่าเป็นส่วนจริง ๆ คือ มีการปลูกเป็นแถวเป็นแนวมีความเป็นระเบียบร้อยพอควร มีการดูแลรักษา ตัดหญ้า แบบนี้เรียกว่า "สวนเมี่ยง" 
      "สุดขอบฟ้า" เป็นเป็นคำที่ไม่ไกลเกินจริง เนื่องจากต้นเมี่ยงตามธรรมชาติไม่เคยเกิดหรือเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ และคิดว่าคงจะไม่มีหมู่บ้านใดที่มีชื่อของต้นเมียงอยู่ด้วยในชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งในที่ราบ และคงไม่มีจังหวัดใดในภาคเหนือเช่นกันที่มีหมู่บ้านป่าเมี่ยงอยู่ในจังหวัดโดยไม่มีภูเขา นั่นหมายถึงเมี่ยงเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงนั่นเอง สำหรับความสูงที่มีการปลูกชาเมี่ยงได้ผลดีคือสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไปแต่จะไม่เกิน 1500 เมตร เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เย็นเกินไป มาถึงตอนนี้หลายคนคงพอจะคลำทางได้ว่าหากจะไปดูต้นเมี่ยงที่ว่า โน่นครับต้องนึกไปถึงยอดเขาภูดอยสูงเสียดฟ้านั่นเอง
 

      "เมี่ยงเป็นชา...หรือว่าชาเป็นเมี่ยง"

     คำพูดนี้ออกแนวไก่กับไข่ แต่ความจริงหาใช่ออกแนวความหมายเชิงคำถามอย่างนั้นไม่ เมี่ยงจัดเป็นชาชนิดหนึ่ง แต่ชา (ทั่วไป) ไม่ได้เป็นเมี่ยงไปเสียทั้งหมด เนื่องจากมีความจำเพาะของการใช้ประโยชน์นั่นเอง ผมได้ลองค้นข้อมูลดูว่าในอดีตเคยมีการเรียกว่าชาเป็นเมี่ยงหรือไม่ มาถึงตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะมี คำว่า "ชาเมี่ยง" แต่อาจจะเป็นการเรียกขานกันในตอนหลังก็ได้เมื่อคนเมืองรู้จักการดื่มน้ำชาหรือวัฒนธรรมการดื่มชาจากจีน ส่วนนักวิชาการนักวิจัยได้พบว่าเมี่ยงที่ปลูกกันทางภาคเหนือของไทยที่แท้ก็คือชาชนิดหนึ่งนั่นเอง จึงมีการเรียกกันว่า "ชาเมี่ยง" เนื่องจากเมี่ยงสามารถนำไปทำใบชาสำหรับชงดื่มได้ สำหรับหลักฐานคำว่าเมี่ยงอันเก่าแก่นั้น อย่างน้อยสุภาษิตล้านนาที่มีมาในอดีตที่พอจะจำกันได้ง่าย อย่าง "เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม" จะไม่ปรากฏคำว่า "ชา" หน้าคำว่าเมี่ยงแน่นอน หรือคำว่า "ไอ้ขี้เมี่ยง" ก็ไม่เคยได้ยินว่า "ไอ้ขี้ชาเมี่ยง" อย่างนี้เป็นต้น หรือหลักฐานอื่นใดอย่าง หม้อ ไห ตะไหล ป๊าก (ฮ่า ๆ มันคือ อะไร?)  ที่มีในอดีตถึงปัจจุบันที่มีส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชงชานั้นก็ไม่ปรากฏ (ความหมายของภาษิตล้านนาที่เกี่ยวข้องกับเมี่ยงค่อยเขียนในหัวข้อต่อไป) มาถึงตอนนี้บางท่านอาจจะนึกถึงพืชบางชนิดที่เรียกว่า "ชาดัด" "ชาฮกเกี้ยน" หรือ "ชาข่อย" บ้าง จากข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ต้องบอกว่าทั้งสองชื่อนี้เป็นพืชคนละชนิดกับชาที่เรารู้จักกันและเป็นพืชที่อยู่คนวงศ์ตระกูลกันกล่าวคือ ชา หรือ ชาเมี่ยง อยู่ในตระกูล Theaceae สวนชาดัดนั้นอยู่ในตระกูล Boraginaceae ส่วนเมียงคำ เมี่ยงหลายคำ หรือเมี่ยงอื่น ๆ จะไม่พูดถึง ณ ที่นี้ คงต้องพาอากู๋อายูช่วยละครับ
 
ภาพฤาษีจูเนียร์
 

      ล่าสุดผู้เขียนได้รับทราบจากการบอกเล่าถึงประวัติหลักฐานอันสำคัญยิ่งเรื่องความเป็นมาของเมี่ยงล้านนา เป็นประวัติความเป็นมาอย่างแสนสุดคลาสสิค แบบว่าประวัติชาของเมืองจีนต้องหลบให้ เรื่องประวัติเมี่ยงที่จะเขียนต่อจากนี้ต้องบอกก่อนว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีอยู่จริงตามชุมชนที่มีการปลูกเมี่ยงในภาคเหนือและเล่าสืบต่อกันมา คงจะนึกออกละครับว่าเรื่องอันแสนคลาสสิคดังว่านั้นจะขึ้นต้นด้วยประโยคใด
     "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...(ฮ่า ๆ ฮิ้ว...) มีฤาษี 2 ตนได้แข่งกันบำเพ็ญเพียร โดยได้ตั้งกติกาต่อกันว่าใครจะนั่งบำเพ็ญได้อย่างยาวนานกว่ากันมากน้อยเพียงใดจะเป็นผู้ชนะ จากนั้นจึงได้แข่งขันกันอย่างขะมักเขม้น คืนหนึ่งฤาษีตนหนึ่งได้สังเกตเห็นฤาษีอีกตนหนึ่งได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรไม่ได้หลับได้นอน พอตกเวลากลางคืนก็แลเห็นจุดไฟกองไฟและตะเกียงที่มีแสงไฟเล็ก ๆ อยู่ข้าง ๆ พร้อมกับแลเห็นว่าฤาษีตนนั้นมีลักษณะท่าทางทำโน่นทำนี่สลับกับการนั่งบำเพ็ญอย่างนี้ทุก ๆ คืน จึงแอบนึกในใจว่าตนเองคงทำไม่ได้เท่าเขาหรือว่าฤาษีตนนั้นมีตัวช่วยอะไรดีรึ จึงนึกอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาและบอกกับตัวเองว่าหากสบโอกาสเมื่อไหร่จะแอบเข้าไปดูว่ามีตัวช่วยอะไรอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า หลังจากได้โอกาสจากที่รอคอยมานาน คืนหนึ่งหลังจากที่ฤาษีตนนั้นได้ออกไปทำธุระส่วนตัว (หรือเปล่า?) จึงได้รีบแอบไปดู ณ ที่แห่งนั้น จึงพบว่า ฤาษีตนนั้นไม่ได้ดื่มน้ำเปล่า ๆ เหมือนเราเลย ภายในกาต้มนั้นปรากฏว่ามียอดใบพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ใกล้ ๆ เสนาสนะแห่งนั้นถูกต้มอยู่ในนั้นด้วย และแล้วจึงได้ถือโอกาสแอบลองจิบดู แล้วรีบกลับมายังที่ตั้งของตน ต่อมาจึงเกิดความรู้สึกว่ากระชุ่มกระชวยดีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน (นั่นแน่ ถึงตอนนี้คุณผู้อ่านบางท่านคงเดาเนื้อเรื่องออกซิว่า จะมาจบตอนไหน ฮ่า ๆ  ยังครับมันยังไม่ถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องครับ หากเป็นเพลงก็ยังคงไม่ถึงท่อนฮุกนะครับ) อ้าว มาต่อครับยังไม่จบครับยังครับ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นแข็งขันนะครับ ยังไม่มีผู้แพ้ชนะ (ส่วนจะถึงขั้นเอาชีวิตเดิมพันหรือไม่อาจทราบได้) จากนั้นฤาษีตนที่แอบย่องไปหาคำตอบ ได้เกิดไอเดียบรรเจิดว่าถ้าหากทำตามที่ตนคิดไว้คงจะเห็นหนทางแห่งชัยชนะจะๆ นั่นคือ หากจะทำให้ทน อดหลับอดนอน และกระชุ่มกระชวยเป็นทวีคูณนับสิบ ๆ เท่า  ต้องกินทั้งใบ (ฮ่า ๆ)  พร้อมกับสบถในใจว่าแค่ต้มกินน้ำจะสู้ข้าได้อย่างไรกัน และแล้วจึงได้แอบลงมือในเวลาต่อมาของวันรุ่งขึ้น โดยขั้นแรกได้ทดสอบกินใบสดก่อน จึงพบว่าส่วนที่เป็นใบแก่นั้นรสชาติแสนจะทรมานใจเสียเหลือเกิน หากเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้คงบอกว่ามีรสชาติไม่ต่างกับเลียเสาไฟฟ้าอย่างใรอย่างนั้น จากนั้นจึงได้ทดลองกินยอดอ่อนในเวลาต่อมา จึงพบว่าพอทานได้ (ไม่กล้าใช้คำคำๆ นั้น ฮ่า ๆๆ) แต่ไม่ถึงกับถูกจริตของปากมากนัก เพราะมันยังคงมีรสชาติออกฝาด ๆ อยู่ (หากมีปลากระป๋องสมัยนั้นเมี่ยงคงไม่เกิดแน่ ฮ่า ๆ)  จึงคิดว่าต้องนำไปทำให้สุกก่อนน่าจะแก้ไขเรื่องรสชาติอันไปปรารถนานี้ได้ หลังจากได้ลงมือทำและชิมดู ปรากฏว่าใช่เลย (นี่เพิ่งมาท่อนฮุกที่หนึ่งของเรื่องนี้) เพื่อให้เกิดความคงทนต่อการหลับนอนในครั้งแรกนี้จึงทดสอบไปเสียหนึ่งกำมือ  ปรากฏว่าคืนนั้นไม่ได้หลับได้นอนและเป็นไปตามคาด (ฮ่า ๆ โอเวอร์โดส) แต่มีข้อเสียไม่เหมาะกับการบำเพ็ญเพียรคือ ใจเต้นกระสับกระส่าย (คงคล้ายกับคนซดกาแฟหนึ่งลิตรในครั้งเดียวหรือไม่ก็คนไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อนแต่ข้ามรุ่นไปกินแอสเปรสโซ่ อะไรอย่างนั้น) เมื่อทราบถึงฤทธิ์อันร้ายกาจของพืชชนิดนี้แล้ว จึงได้ลดปริมาณลงมาให้พอดีในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากตนเป็นฤาษีจะต้องบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นหลักแหล่งหรืออยู่กับที่เป็นหลัก ทำอย่างไรน้อถึงจะได้ทำครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บไว้กินได้ในเวลานาน ๆ จึงได้คิดหาวิธีถนอมอาหารขึ้น ด้วยความบังเอิญคือ หลังจากทำการนึ่งยอดพืชชนิดนั้นในปริมาณมาก ๆ แล้ว ได้เก็บห่อไว้ด้วยใบตองน่าจะดีกว่า และแอบเอาออกมาทานทีละเล็กที่ละน้อย นั่นเป็นสิ่งที่ได้ผลและเป็นไปตามคาด หลังจากทานเหลือจึงพบว่านานวันเข้าจึงเกิดมีรสเปรี้ยวขึ้น และยังพบอีกว่ามีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมมากกว่าเดิม (หึหึ..ลากมาถึงตรงจุดนี้จนได้ ถ้าฤาษีได้ใส่เกลือและขิงดองและเมล็ดบ่ากิ้งคั่วลงไปด้วยล่ะอย่าบอกใคร) แต่ก็ยังไม่ถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องอยู่ดี แล้วคำว่าเมี่ยงมันมาจากไหน โอ้ยไม่อยากจะบอกในที่นี้เลยอายเหมือนกันนะเนี่ย เขาเล่าเรื่องนี้มาให้ฟังแค่ 3 บรรทัด ไม่ว่ากันเน๊าะมันคงเข้าหน้าร้อนแล้วมันเลยขยายตัวมาซะยืดยาว และหมดไข่ไปเป็นแผง ฮ่า ๆ เพื่อจะมาบอกว่า เมี่ยง มันมาจากปรากฏการณ์ที่ฤาษีจุดไฟเพื่อนึ่งหรือต้มใบพืชชนิดนั้นนั่นแหละ และแสงไฟส่องประกายเล็ดรอดออกมาให้เห็น ภาษาเหนือเขาจะเรียกว่า "ต๋ามไฟเหม็ง ๆ" คำว่า เหม็ง ๆ นี่แหละต่อมาภายหลังได้นำไปตั้งชื่อพืชชนิดนี้คือ "เมี่ยง" แล้วประวัติเมี่ยงก็จบลงด้วยประการชะนี้แล..โดยไม่ทราบว่าฤาษีตนไหนแพ้หรือชนะ..? เอวัง...
ภาพถุงบรรจุเมี่ยงที่หมักได้ที่แล้วและรอการนำไปจำหนาย

      จากข้อมูลการค้นคว้าวิจัยพบว่า เมี่ยง ในภาคเหนือของไทยเป็นชาพันธุ์หนึ่ง ที่มีการปลูกมานานแล้ว แต่ไม่มีใครฟันธงได้ว่าเริ่มปลูกหรือบริโภคมานานเท่าใด  มาถึงตอนนี้ผู้เขียนเองเกิดอาการงุนงงเหมือนกันเมื่อไปเจอข้อความว่า เมียง เป็นชาอัสสัม หากตั้งสติคิดไม่ทันคงหมายความว่าเมียงถูกนำเข้ามาจากรัฐอัสสัมประเทศอินเดียชะแล้ว แท้ที่จริงเมี่ยงมันมีอยู่เก่าก่อนแล้วในถิ่นนี้ คงเป็นเพราะฝรั่งเข้ามาศึกษาชาในอินเดีย พบชาพันธุ์หนึ่งที่ปลูกกันมากในรัฐอัสสัมจึงเรียกว่า ชาอัสสัม ต่อมามีการศึกษาในไทยพบพบว่าเมี่ยงเป็นชาพันธุ์หนึ่งที่ไปเหมือนกับของอินเดียเลยมีการเขียนกันว่าเป็นชาอัสสัม ตกลงไม่ทราบว่าใครเหมือนของใคร? สุดท้ายมันก็คือเมี่ยงเหมือนเดิม เพียงแต่ใครจะไปเจอก่อนหลังกัน จึงเรียกสิ่งนั้นตาม มีเรื่องเล่าถึงการตั้งสรรพนาม ที่เราพอจะรู้จักกันอย่าง "ปลาปากนกแล้ว" แสดงว่าเคยเห็นนกปากนกแก้วมาก่อน แล้วมาเห็นปลาชนิดนี้ปากเหมือนนกแก้วจึงเรียก "ปลาปากนกแก้ว"  หากจะเรียก "นกแก้วปลา" (ที่เหมือนปากนกแก้วชนิดนั้น) แสดงว่าคนเคยเป็นปลาชนิดนั้นมาก่อนใช่หรือไม่?
     สำหรับชนิดของเมี่ยงนั้น ได้ทราบข้อมูลอีกว่า ชาผู่เอ๋อในจีน ก็คือ เมี่ยง ของภาคเหนือของเราอีกด้วย ตกลงท้ายสุดจริง ๆ ทั้งเมียง ชาอัสสัม และชาผู่เอ๋อ (Pu-erh) เป็นคน ๆ เดียวกัน แต่ไปปรากฏกายต่างถิ่นเท่านั้น ชาผู่เอ๋อในมณฑลยูนานของจีนนับเป็นชาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติศาสตร์และตำนานเล่าขานเกี่ยวกับชาในประเทศนี้แบบที่ว่า เล่าสามวันไม่จบ ที่นั่นเขาหวงต้นชาที่เก่าแก่เปรียบเสมือนญาติโกโหติกาหรือเหล่าบรรพบุรุษ และจะต้องรักษาด้วยชีวิตก็ปานนั้น ที่สำคัญคือ เขาประกาศก้องไปทั้งสามโลกว่า ที่นี่คือที่กำเนิดเทพเจ้าแห่งชา ไม่มีใครมีต้นชาที่เก่าแก่ไปกว่านี้อีกแล้วและชาชนิดนี้ดันเป็นต้นชาเมี่ยง หรือ เมี่ยงที่กำลังพูดถึง ชะงั้น


ภาพต้นชาที่ได้รับการยืนยันว่ามีอายุมากที่สุดของโลก คือชาผู่เอ๋อ มีอายุ 3200 ปี อยู่ที่มณฑลยูนาน
      ในทางการตลาดเกี่ยวกับการค้าการขายชาแล้วเขาเอาบรรพบุรุษตนนี้โฆษณาอย่างพิศดารเลยทีเดียว อย่างในปี 2007 เขานำชาผู่เอ๋อที่ต้นอายุ 3200 ปีไปทำชาหมักก้อน (teacake) ที่มีขนาดน้ำหนัก 1.1 ปอนด์ สามารถขายได้ในราคาสูงถึง 40,000 ดอลลาร์ (หึ หึ ขายชาก้อนละล้านสอง) ยิ่งทำให้ดังระเบิดเถิดเทิงกันไปใหญ่ นอกจากนี้ข้อมูลทางวิชาการยังดาหน้าออกมาหนุนถึงคุณประโยชน์แบบไร้ที่ติ ยกเว้นดื่มจนท้องแตกตาย นั่นแหละ มาถึงตอนนี้บางท่านอาจจะปิ้งไอเดียว่า ทำไมไม่เอาเมี่ยงสวมรอยชาผู่เอ๋อไปเลยละ ในทัศนผมคิดว่าคงได้ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามหากเราไม่สามารถพบตัวเราเองยังไงๆ ก็เป็นพระรองอยู่ดี   เออคราวนี้ลองหันมาดูเมี่ยงบ้านเรากันบ้าง จะลองขวาหันซ้ายหันลองถามคนที่คิดว่าน่าจะถามถูกคนว่า ต้นเมี่ยงที่มีอายุมากและเก่าแก่ที่สุดมีอยู่ก่อและอยู่แห่งหนตำบลใด? (หึ หึ คงรู้คำตอบกันนะครับ) นั่นซิ ต้นไม้เก่าแก่บ้านเรามันกลายเป็นตั้นไม้พันธุ์ "เอ้อ" กันไปเสียหมดแล้ว ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปสำรวจพันธุ์พืชในที่ต่าง ๆ ได้ถามชาวบ้านว่าเคยเห็นต้นนั้นต้นนี้มั๊ย คำตอบที่มาก่อนส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้พันธุ์นี้ครับคือพันธุ์ "เอ้อ"  เช่น เอ้อ..เหมือนจะเคยเห็น  เอ้อ...เมื่อยังละอ่อนเคยกิน เอ้อ...เมื่อก่อนเคยอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น นี่แหละต้นไม้พันธุ์เอ้อ ส่วนสาเหตุของการเป็นต้นไม้พันธุ์เอ้อนั้น ผมคงไม่ต้องสร้างวจีกรรมไว้ ณ ที่นี้ แต่อยากจะสร้างวจีกรรมไปวันข้างหน้าว่า รากเหง้าเหล่ากอของต้นไม้เหล่านี้เปรียบเสมือนบรรพบุรุษที่ยังคุณูปการแก่แผ่นดินที่ควรจะต้องช่วยกันปกปักรักษาอาจจะถึงขั้นขึ้นทะเบียนเหมือนกับโบราณสถานแห่งชาติ (ฮ่า ๆ ว่าไปนั่น)  ส่วนจะนำไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมใดก็สุดแต่เหตุอันควรในอนาคต

      "ชาเคี้ยว...หนึ่งเดียวของโลก"

      สำหรับคนล้านนาหรือคนเมืองพื้นเพในถิ่นเหนือในอดีต หากท่านใดมีโอกาสต้อนรับแขกทั้งระดับวีไอพีหรือนอนวีไอพีก็ตาม การเชื้อเชิญแขกต่างบ้านต่างเมืองให้เคี้ยวชา โดยมิได้อธิบายที่มาที่ไปเห็นท่าจะวงแตกก่อนจะได้ทาน สำหรับที่แห่งนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะในการบริโภคชาแบบ "เคี้ยว" ภาษาเมืองเหนือเรียกว่า "เกี๊ยวเมี่ยง" หรือ "อมเมี่ยง"  จากประสบการณ์ของผู้เขียนคิดว่าการบริโภคชาแบบเคี้ยวน่าจะเป็นที่แห่งเดียวของโลกก็ว่าได้ พลเมืองส่วนใหญ่ของโลกร่วม 6000 ล้านคนนิยมบริโภคชาจากการนำใบมาทำให้แห้งและแช่น้ำร้อน สิ่งที่ได้เรียก"น้ำชา" หากยกยอเป็นแก้วอาจเรียก "ดื่มน้ำชา" หากร้อนมาก ๆ ต้องทานทีละน้อย ๆ อย่างระมัดระวังเรียกกิริยานี้ว่า "จิบน้ำชา"  ไม่เคยได้ยินและเห็นการ "จิบน้ำเมี่ยง" นอกจากนี้ยังมีความหมายแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า "ค่าน้ำร้อนน้ำชา" และก็ไม่เคยได้ยินเสียด้วยซ้ำไปกับคำว่า "ค่าน้ำร้อนน้ำเมี่ยง" สำหรับความหมายของคำ ๆ นี้ผู้เขียนจะขออนุญาตไม่อธิบาย ณ ที่นี้ แต่พอจะทราบเพียงแต่ว่ามันมีค่าราคาแพงในปัจจุบัน  (ปล. ในทางวิชาการ สำหรับวัฒนธรรมการบริโภคชาแบบเคี้ยวน่าจะต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีชนชาติอยู่กี่แห่งหนตำบลใดบ้างที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมนี้)
      อย่างไรก็ตามหากได้ค้นคว้าประวัติชาในไทยแล้วค้นไปในทุก ๆ ซอกของเครือข่ายใยแมงมุมก็จะเจอข้อความเหมือน ๆ กัน ว่าไทยกับจีนได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน้น เนื่องจากทูตฝรั่งเศษชื่อ ลาลูแบร์ได้เขียนบันทึกไว้ว่ามีการดื่มกันแล้วและมักตระเตรียมไว้ต้อนรับแขก (ส่วนแขกสมัยโน้นกับแขกสมัยนี้จะเป็นแขกแบบเดียวกันหรือไม่มิทราบได้) ส่วนการจัดจำแนกประเภทชาตามกรรมวิธีการแปรรูปแล้วในวิกิพีเดียเขียนไว้ว่ามีอยู่ 6 อย่างด้วยกัน โดยชาเมี่ยงนั้นคาดว่าน่าอยู่ในกลุ่มของชาหมัก เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่ชี้ชัดว่าชาหมักมีการแปรรูปแบบชาเมี่ยง แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีการกล่าวถึงการบริโภคชาแบบเมี่ยงคือ การเคี้ยว
      จากการได้สอบถามข้อมูลเรื่องเมี่ยงจากผู้สูงวัยในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่พบว่า เมี่ยงมี 2 ลักษณะคือ เมี่ยงขาว และเมี่ยงแดงหรือเมี่ยงก่ำ เมี่ยงก่ำเป็นเมี่ยงที่มีจำนวนน้อยและหายากกว่าเมี่ยงขาว แต่เมื่อนำมาทำเมี่ยงที่หมักแล้วจะให้รสชาติที่ไม่ต่างกัน

ภาพยอดใบของ "เมี่ยงก่ำ" หรือ "เมี่ยงแดง"  ซึ่งเป็นเมี่ยงอีกลักษณะหนึ่งที่มียอดสีแดง
      อย่างที่เกริ่นในตอนต้นว่า การบริโภคเมี่ยงที่เป็นชาชนิดหนึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ การเคี้ยว (ภาษาพื้นถิ่นเรียก เกี๊ยวเมี่ยง บ้างเรียก อมเมี่ยง ความจริงคือทั้งอมและเคี้ยว) ลักษณะอาการจะคล้ายกับเคี้ยวหมากฝรั่ง การเคี้ยวเมี่ยงให้อร่อยต้องเคี้ยวอย่างมีสุนทรียทางอารมย์ คือเคี้ยวอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ ไม่จำเป็นต้องเคี้ยวอย่างรีบเร่งเหมือนหมากฝรั่ง และไม่จำเป็นต้องช้าจนเกินไปเหมือนเคี้ยวเอื้อง จ๊ะอึ๋ย!! ว่ากันว่าการเคี้ยวเมี่ยงให้ได้อารมย์อย่างถึงที่สุดจะต้องอัดควันบุหรีขี้โยเข้าปอดร่วมด้วยเป็นจังหวะๆ (ขี้โย คือ เปลือกฝักมะขามสุกนำมาตากแห้ง ป่นเป็นชิ้นเล็ก ผสมกับยาเส้นสำหรับทำบุหรี)  ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนจังหวะการเคี้ยวต่อการอัดบุหรี 4-5 ต่อ 1 ครั้ง และระหว่างการคายควันออกจากปอดนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะยังคงเคี้ยวเมี่ยงผสมควันไปในตัวด้วย ดังมีคำบอกกล่าวว่า เมี่ยงกับบุหรี น่าจะเป็นของคู่ชู้รักกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว ทั้งหลักฐานปรากฏทั้งภาษาพูด และภาพวาดตามฝาผนังโบสถ์วิหารที่เก่าแก่อยู่หลายแห่งในภาคเหนือ  มีสิ่งบ่งบอกอีกอย่างที่ผู้เขียนสังเกตเห็นการเคี้ยวเมี่ยงอย่างเอร็ดอร่อยนั้นจะต้องเคี้ยวให้เสียงดัง "แจ๊บ ๆ" (จริงหรือเปล่า ?) มันเป็นพฤติกรรมของการเคี้ยวอย่างมีอารมณ์ความสุขที่เดียว อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศเชื้อเชิญผ่านสัญชาตญาณให้ผู้อื่นเกิดน้ำลายไหลก็เป็นได้ และเป็นการส่งสัญญาณอันทรงเกียรติให้เจ้าของบ้านได้รับรู้ว่า "เมี่ยงสู..แซบเว่อร์"
      อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการ "เคี้ยวเมี่ยงหรืออมเมี่ยงสูบบุหรี" (เกี๊ยวเมี่ยงสูบมูลี) ของล้านนา เป็นเรื่องของกาลเทศะอย่างแน่นอน และมีพิธีการพิธีกรรมมาเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย แม้แต่พิธีการเซ่นไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา การติดสินบนเจ้าที่เจ้าทาง จะขาดเมี่ยงและบุหรี (แถมเหล้าขาว) เสียมิได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้สิ่งที่มองไม่เห็นก็เสพติดกันงอมแงมเช่นกันถึงจะจากภพนี้ไปแล้ว แบบว่าเสพข้ามภพข้ามชาติว่างั้นเถอะ  นี่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยจากกลิ่นไอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาบ้างครั้งแต่ในอดีต
      จากการได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองเชียงรุ้ง (ภาษาถิ่นออกเสียงเจงฮุ่ง คนจีนต่างถิ่นออกเสียงดั้งเดิมเขาไม่ได้เลยออกมาเป็น จิ่งหง) สิบสองปันนาของจีนผู้ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า Tropical Rainforest Ethืnic Culture Museum ที่ตั้งอยู่ในส่วนพฤกษศาสตร์แห่งเมืองสิบสองปันนา เขาได้แสดงหลักฐานประวัติการสูบบุหรี่ที่น่าสนใจและครบถ้วนพอสมควร สิ่งหนึ่งที่ไปพบที่นี้คือ มีหลักฐานของยาสูบพันธุ์ท้องถิ่นที่นำมาสูบกัน เรียกชื่อว่า Red Tobacco หากแปลตรงตัวก็น่าจะชื่อว่า ยาสูบแดง เขานำมาจัดแสดงให้ดูพร้อมกับเขียนป้ายประกอบการอธิบายว่า Red Cut Tobacco คงจะหมายถึง ยาสูบที่ถูกหั่นเป็นเส้น ๆ  ที่เคยเห็นในเมืองไทย นั่นแสดงเห็นว่ายาสูบพันธุ์ท้องถิ่นมีมาในถิ่นนี้แน่นอน ส่วนการอมเมี่ยงนั้นไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน หากมีการศึกษาวิจัยในอดีต อาจจะไม่แน่
 

ภาพลักษณะ ยาเส้น หรือ Red cut tobacco ภายในพิพิธภัณฑ์ Tropical Rainforest Ethnic Culture Museum สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน


ภาพวาดคล้ายการสูบบุหรี่ที่ปรากฏอยู่หลายแห่ง บนฝาผนังวิหารลายคำ
 ของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่



 
 สองภาพด้านบนนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพต่างเพศได้เป็นอย่างดี จากวัฒนธรรมการ "อมเมี่ยงสูบมูลี" เป็นลักษณะท่าทางของการแลกเปลี่ยนหรือขอไฟเพื่อจุดบุหรี เป็นภาพจากฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเช่นกัน

      ต๋ามฮีตโตยฮอย..เมี่ยง

     "ต๋ามฮีต...โตยฮอย" เป็นคำกล่าวที่มีนัยของการย้อนเวลาหาอดีต จากหลักฐานต่าง ๆ ว่าร่องรอยของเมี่ยงในกาลเวลาเป็นอย่างไร สำหรับหัวข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ หากจะเขียนเป็นจริงเป็นจัง ต้องมีงานวิชาการรองรับ และอาจจะเขียนหนังสือกันเป็นเล่มเชียวละครับ แต่ ณ ที่นี้เป็นการเขียนเอาม่วนนะครับ หากจะหาคำตอบให้ได้เป็นจริงเป็นจังต้องศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังนะผมว่า ลองหาอดีตเมี่ยงกับคำถามอยากรู้อยากเห็นเล่น ๆ ดูนะครับ..อะแฮ่ม...
 
       คืออยากรู้ว่า  มีใครทราบบ้างหรือไม่ว่า คำว่า "เมี่ยง" ปรากฏหลักฐานเอาเป็นว่าเก่าแก่ที่สุดเป็นอะไร? มีการจารึกเป็นหลักฐานไว้ที่ใดบ้าง จะอยู่ในปั๊บสาใบลาน ฝาผนังโบสถ์วิหารแห่งใดหรือไม่ คำตอบที่บอกเป็นเชิงเวลาว่ายุคไหนเวลาไหนอาจจะใช้วิธีเทียบเคียงได้ ผู้เขียนเคยลองค้นหามาบ้างว่าหลักฐานอันเก่าแก่ในล้านนา อย่างตามฝาผนังโบสถ์วิหารว่าจะมีภาพคนเคี้ยวเมี่ยงหรือไม่ เนื่องจากมีคำพูดว่า "อมเมี่ยงสูบมูลี" อันหมายถึง หากที่ใดมีการเคี้ยวเมี่ยงมักจะมีการสูบบุหรีด้วย ดูแล้วจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่น่าฉงนเป็นอย่างยิ่งกล่าวคือ ระหว่างการทำกิริยาเคี้ยวยังจะต้องทำกิริยาสูบ ให้สอดประสานจังหวะกันให้ได้อรรถรสในเวลาเดียวกัน ตามฝาผนังโบสถ์วัดเก่าแก่ในภาคเหนือในหลาย ๆ ที่ ดูเหมือนจะมีเฉพาะภาพวาดคนสูบบุหรี่ ไม่ปรากฏคนเคี้ยวเมี่ยง หรือมีถาดเมี่ยงปรากฏให้เห็น เออ... หรือว่าการวาดภาพคนเคี้ยวเมี่ยงมันยากกว่าวาดคนสูบบุหรีก็เป็นได้ หรือในปากมีการเคี้ยวเมี่ยงอยู่แล้วแต่เราดูไม่ออก ก็มิอาจทราบได้ หากนึกต่อไปว่าหากจะต้องวาดคนเคี้ยวเมี่ยงขึ้นมาจริง ๆ ภาพมันจะออกมายังไง นึกบ่าออกงะ..และขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าถึงบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังค้างคาใจกับคำถามนี้อยู่..
      คราวนี้ลองมาดูบุหรี หรือมูลี ของคู่จู้(ชู้)รัก กับเมี่ยงกันบ้าง ถามเล่น ๆ กันว่าสมัยก่อนเขาเอาอะไรมาสูบกัน ชักจะสงสัยว่าลักษณะมวน ๆ ตามภาพวาดผนังโบสถ์วิหารนั้นแท้จริงมันคือ บุหรี่ ที่มียาสูบหรือยาเส้นอยู่ข้างในจริงหรือไม่? แล้วในอดีตมีคำเรียกยาสูบว่าอะไร? หากเป็นยาสูบจริงหน้าตาจะเป็นอย่างไร? จากข้อมูลที่มีให้อ่านกันทั่วบ้านทั่วเมืองบอกว่ายาสูบมีแหล่งกำเนิดที่อเมริกากลาง แล้วมิทราบว่าได้เหาะเหินเดินอากาศเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร?  เอาเป็นว่าหากวัดพระสิงห์วรมหาวิหารสร้างเมื่องปี พ.ศ. 1888 ในสมัยพญาผายูกษัติราชวงศ์มังราย แล้วมีภาพคนสูบบุหรีที่ทำมาจากยาสูบที่ฝาผนังวิหารที่สร้างร่วมสมัยเดียวกัน จะทำให้หลักฐานอื่นที่มีการบันทึกถึงยาสูบที่เก่าแก่ที่สุดกลายเป็นละอ่อนไปทันที่ แม้แต่บันทึกของโคลัมบัสที่มีมีการกล่าวถึงเรื่องยาสูบเมื่อปี พ.ศ. 2035 (คงต้องรอผู้รู้มาไขปริศนาแล้วกัน)



      เมี่ยงในสุภาษิตล้านนา

      สุภาษิตล้านนาที่เกี่ยวกับเมี่ยงน่าจะมีมาอย่างยาวนาน สำหรับผู้เขียนเองเคยได้ยินสุภาษิตเหล่านี้ตั้งแต่เป็นละอ่อนครั้งยังอ่านหนังสือไม่อออกด้วยซ้ำ "เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม" ภาษิตนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากสำหรับคนเมือง ดูเหมือนในเครือข่ายใยก่ำปุ้ง (แมงมุม) มีอธิบายไว้เป่อเร๊อะ  ภาษิตนี้น่าจะมีความหมายไปในแนวการลงทุนที่หวังผลแบบเลื่อนลอยเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ อย่างการเอาลูกเปิ้น (ลูกเขา) มาเลี้ยง หากลงทุนหรือเลี้ยงดูด้วยความเมตตาไม่หวังผลอะไรมากมายก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ปัญหาของสุภาษิตนี้คงอยู่ที่การคาดหวังผลกำไรที่แน่นอน แม่นก่อครับ
      ส่วนอีกคำหนึ่งคือ "ขี้เมี่้ยง" คำนี้น่าสนใจ หากบ้านท่านผู้อ่านมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย อย่างมีด พร้า จอบ เสียม พลั่ว และอื่น ๆ ที่ทำมาจากโลหะเหล็ก หากใช้ไปนานวันเข้าจะสังเกตุมีคราบสีน้ำตาลเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ นั่นเป็นผลพวงมาจากการทำปฏิกริยาระหว่างเหล็กกับอ๊อกซิเจนจนปรากฏเป็นสารสีน้ำตาล ทางเคมีเรียก เฟอร์รัสอ๊อกไซด์ เกิดขึ้น ภาษาเหนือเรียกกันทั่วไปว่า "ขี้เมี่ยง" ขี้เมี่ยงถือเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เมื่อเกิดขึ้นกับวัสดุอุปกรณ์ดั่งว่าคนส่วนใหญ่ก็มักจะหาวิธีกำจัดทิ้ง เช่น ขัด ถูก ฝน ทิ้ง เป็นต้น  ถือเป็นปัญหาอุปสรรคและภัยคุกคามกับเครื่องมือที่ทำมาจากเหล็กเป็นอย่างยิ่ง หากเปรียบเป็นคนในสังคมที่ไร้ประโยชน์ ภาษาเหนือเขาจะเรียกว่า "ไอ้ขี้เมี่ยง" นั่นพึงรู้ว่าเป็นคนไร้ค่าต่ำราคา และไม่ปรากฏหรือนิยมเรียกกันว่า "อีขี้เมี่ยง" หากจะใช้คำว่า ไอ้ อี ในการแยกเพศ เขาจะใช้ "ไอ้" เหมารวมทั้งสองเพศสำหรับสุภาษิตนี้
      แล้วหากจะถามว่า แล้วขี้เมี่ยงจริง ๆ มันเป็นอย่างไร? ความหมายก็มาแนวเดียวกันนั่นแหละครับ กล่าวคือ หลังจากที่เราเคี้ยวเมี่ยง เป็นที่อิ่มใจสบายอารมณ์เรียบร้อยแล้ว  คือ เคี้ยวไปจนมีรสจืด หรือจนกว่าจะพอใจ จะต้องคายกากเมี่ยงทิ้ง สิ่งที่คายออกจากปากออกมาทิ้งนี่แหละเขาเรียกว่า "ขี้เมี่ยง"  นั่นเอง ถือว่าไร้ค่า ไม่ควรจะคงอยู่ในปากอีกต่อไป  อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการเคี้ยวเมี่ยงปกติเมื่อเคี้ยวแล้วจะคายกากทิ้ง มีเป็นส่วนน้อยที่ทราบว่ามีการกลืนกินทั้งกาก นั่นหมายถึงไม่เหลืออะไรออกมาเลย คงได้รับสารเสพติดอย่างคาเฟอินไปแบบเต็มร้อยอย่างมิได้ตกหล่น เรื่องของสารเสพติดในน้ำชากาแฟนี่ก็น่าสนใจเช่นกัน เคยมีรายงานว่าหากเราดื่มน้ำชากับกาแฟในประมาณเท่า ๆ กันนั้น พบว่าการดื่มชาจะได้ คาเฟอีน มากกว่ากาแฟเสียอีก มิน่าเล่า คนเหนือหลังการเปิบข้าวเหนียวแล้วถึง "เกี๊ยวเมี่ยงฮ้าวมูลี" โตยทันที คือว่ามันจะช่วยให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนนั่นเอง หากมัวแต่นอนไม่ทำการทำงานอาจถูกตีตราว่าเป็น "ไอ้ขี้เมี่ยง"  ก็ตัวใครตัวมันละครับเน้อ..ครับ.
     ปล. สำหรับผู้สนใจเรื่องเมี่ยงแบบเต็มอิ่ม สามารถร่วมสัมผัสวัฒนธรรมเมี่ยงได้ในระหว่างเดินทางไปร่่วมทำบุญ ณ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย ส่วนวันเวลาจะได้แจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป
 

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย

กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


 
     ณ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินทางธุดงค์มาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ การเดินทางมาในขณะนั้นมีโยมสม ขัติแก้ว ผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินสวนเมี่ยงแก่หลวงปู่มั่น ต่อมาได้มีหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ขาว อนาลโยและหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นคณะสงฆ์รับการถวายที่ดินดังกล่าว 
      สถานที่แห่งนี้นับเป็นที่สัปปายะอย่างแท้จริงดังเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงการเดินทางมาปฏิบัติธรรมธรรมของพระอริยสงฆ์สายธรรมยุตจำนวนหลายรูป ณ ที่แห่งนี้เดิมมีทั้งกุฏิของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ แต่ได้ผุพังไปกับกาลเวลา คงเหลือแต่เฉพาะกุกิหลวงปู่มั่นที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพดีขึ้นมาในปัจจุบัน
      ตามที่คณะปฏิบัติการวิทยาการ อพ.สธ. ได้เดินทางไปสำรวจพันธุ์พืชบริเวณหมู่บ้านป่าเมี่ยงแม่สาย ได้มีจิตศรัทธาร่วมกันในอันที่จะเผยแพร่ปฏิปทา คุณความดีของพระอริยะสงฆ์จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะสร้างหุ่นเหมือนเท่าองค์จริงของหลวงปู่มั่นเพื่อประดิษฐานไว้บนกุฏิ พร้อมเครื่องอัฐบริขาร ตลอดจนประวัติคุณความดีของท่านได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายสืบไป


 
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้านหน้า
 

สภาพภายในกุฏิ




ลักษณะฝาผนัง ตำแหน่งหน้าต่างและประตูกุฏิ

 

 
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในสภาพทรุดโทรมก่อนการบูรณะซ่อมแซม


 

     การเดินทางมาปฏิบัติธรรมของพระอริยสงฆ์

      การเดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรมของพระอริยสงฆ์ ณ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยงแม่สาย ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้นอกจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งได้เดินทางมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้วในกาลต่อมายังมีอีกหลายรูปที่ได้เดินทางมาปฏิบัตธรรม ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พ่อหนานเจริญ  ตาคำ (ผู้เป็นหลานยายสม ขัติแก้ว ผู้บริจาคที่ดินจำนวน 6 ไร่ไว้เป็นสำนักสงฆป่าเมี่ยงแม่สาย) และจากการค้นคว้าจากหนังสือ มีดังนี้
(สำหรับเวลาที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์รูปอื่น ๆ จะนำมาเพิ่มเติมในลำดับต่อไป)

 

 หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใม่

 


หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู



หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย


หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ

วัดประสิทธิธรรม จังหวัดอุดรธานี

 

หลวงปูชอบ  ฐานสโม

วัดป่าสัมมานุสรณ์ จังหวัดเลย

 

หลวงปู่อ่อนสี  สุเมโธ

วัดพระงามศรีมงคล จังหวัดหนองคาย

 
 

หลวงปู่ตื้อ  อจลธมดม

วัดอรัญวิเวก จังหวัดนครพนม

 
 

หลวงปู่พร  สุมโน

วัดประชานิยม จังหวัดสกลนคร

(ที่มาภาพ : http://kamalo.50megs.com/images/sumano.jpg)
 
 

หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร

สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จังหวัดเชียงใหม่

(ที่มาภาพ : http://duangthum.files.wordpress.com/2011/05/zz555.jpg?w=480&h=614)
 
 

หลวงปู่เหรียญ  วรลาโภ

วัดอรัญบรรพต จังหวัดหนองคาย

(ที่มาภาพ : http://www.dhammadana.net/image/rhian1.jpeg)

 

หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม

 วัดสิริสาลวัน จังหวัดหนองบัวลำภู

 

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

วัดวิเวกวัฒนาราม จังหวัดมุกดาหาร

 

หลวงปู่คำบ่อ  ฐิตปญโญ

วัดใหม่บ้านตาล จังหวัดสกลนคร

 

หลวงปู่อุดม  ญาณรโต

วัดป่าสถิตธรรมวนาราม จังหวัดบึงกาฬ

 

พระอาจารย์เปลี่ยน  ปัญญาปทีโป

วัดอรัญวิเวก จังหวัดเชียงใหม่

 

หลวงพ่อประสิทธิ์  ปุญญมากโร

วัดป่าหมู่ใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

หลวงพ่อประสิทธิ์  ฉนทาคโม

วัดอรัญวิเวก  จังหวัดเชียงใหม่

 
 

หลวงปู่กวง  โกสโล วัดป่านาบุญ จังหวัดเชียงใหม่

หลวงพ่อประสงค์  สุสนโต วัดป่านาบุญ  จังหวัดเชียงใหม่